ความสำคัญและที่มาของระเบียบสํานักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วย พนักงานราชการ พ.ศ. 2547
โดยระเบียบฉบับนี้ได้กําหนดให้มีการปรับปรุงกระบวนการจ้างงานภาครัฐ โดยเน้นไปที่ “ลูกจ้างของส่วนราชการ” ให้มีความหลากหลาย เพื่อให้เกิดความเหมาะสมในการใช้กําลังคนภาครัฐ และให้การปฏิบัติราชการมีความคล่องตัวเกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผล โดยสอดคล้องตามแนวทางการบริหารจัดการภาครัฐแนวใหม่ คณะรัฐมนตรีจึงเห็นสมควรให้มีการจ้าง พนักงานราชการ สําหรับการปฏิบัติงานของส่วนราชการ
เห็นชอบโดยคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยอาศัยอำนาจในมาตร 11(8) ของพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534
ชื่อเรียกเต็มๆ คือ “ระเบียบสํานักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยพนักงานราชการ พ.ศ. 2547” (ข้อ 1)
บังคับใช้ตั้งแต่ 1 มกราคม พ.ศ. 2547 (วันแรกของปี) (ข้อ 2)
นิยาม/คำจำกัดความ (ข้อ 3)
“คณะกรรมการ” คือ คณะกรรมการบริหารพนักงานราชการ (คพร.)
“ส่วนราชการ” คือ กระทรวง ทบวง กรม หรือส่วนราชการที่เรียกชื่ออย่างอื่น และมีฐานะเป็นกรมหรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐที่มีฐานะเป็นส่วนราชการ ตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการแผ่นดินและกฎหมายว่าด้วยการปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม เว้นแต่ราชการส่วนท้องถิ่น
“หัวหน้าส่วนราชการ” คือ ปลัดกระทรวง ปลัดทบวง อธิบดี หรือหัวหน้าส่วนราชการที่เรียกชื่ออย่างอื่นและมีฐานะเป็นกรม หรือหัวหน้าหน่วยงานอื่นของรัฐที่มีฐานะเป็นส่วนราชการ และผู้ว่าราชการจังหวัด ซึ่งเป็นผู้ว่าจ้างพนักงานราชการ
“พนักงานราชการ” คือ บุคคลซึ่งได้รับการจ้างตามสัญญาจ้างโดยได้รับค่าตอบแทนจากงบประมาณของส่วนราชการ เพื่อเป็นพนักงานของรัฐในการปฏิบัติงานให้กับส่วนราชการนั้น
“สัญญาจ้าง” คือ สัญญาจ้างพนักงานราชการตามระเบียบนี้
กฎข้อบังคับใดๆ ที่ข้าราชการหรือลูกจ้างต้องปฏิบัติหรือละเว้น พนักงานราชการ ก็ปฏิบัติในแนวทางเดียวกัน เว้นแต่เรื่องใดมีข้อกำหนดไว้แล้วโดยเฉพาะในระเบียบหรือตามเงื่อนไขของสัญญาจ้าง (ข้อ 4)
ให้ “เลขาธิการคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน” รักษาการตามระเบียบนี้ (ข้อ 5)
หมวด 1: พนักงานราชการ
พนักงานราชการ มี 2 ประเภท คือ “พนักงานราชการทั่วไป” กับ “พนักงานราชการพิเศษ” (ข้อ 6)
1. พนักงานราชการทั่วไป เช่น พนักงานราชการที่ปฏิบัติงานประจำทั่วไปด้านงานบริการ งานเทคนิค งานบริหารทั่วไป งานวิชาชีพเฉพาะ หรืองานเชี่ยวชาญเฉพาะ
2. พนักงานราชการพิเศษ เช่น พนักงานราชการที่ปฏิบัติงานที่ต้องใช้ความรู้หรือความเชี่ยวชาญสูงเป็นพิเศษที่มีความสำคัญหรือจำเป็นเฉพาะ
ตำแหน่งของพนักงานราชการ กำหนดโดยจำแนกเป็นกลุ่มงานตามลักษณะงานและผลผลิตของงาน (ข้อ 7)
1. กลุ่มงานบริการ
2. กลุ่มงานเทคนิค
3. กลุ่มงานบริหารทั่วไป
4. กลุ่มงานวิชาชีพเฉพาะ
5. กลุ่มงานเชี่ยวชาญเฉพาะ
6. กลุ่มงานเชี่ยวชาญพิเศษ
“ประกาศของคณะกรรมการ” จะเป็นตัวกำหนดว่าพนักงานราชการประเภทใดจะมีตำแหน่งในกลุ่มงานใด รวมถึงลักษณะงานและคุณสมบัติเฉพาะของกลุ่มงาน โดยส่วนราชการที่เป็นผู้ว่าจ้างสามารถกำหนดชื่อตำแหน่งในกลุ่มงานตามความเหมาะสม
คุณสมบัติของผู้ที่จะรับตำแหน่งพนักงานราชการ (ข้อ 8)
1. สัญชาติไทย
2. อายุไม่ต่ำกว่า 18 ปี
3. ไม่เป็นบุคคลล้มละลาย
4. ไม่ทุพพลภาพ ไร้ความสามารถ หรือจิตฟั่นเฟือน
5. ไม่ดำรงตำแหน่งทางการเมือง
6. ไม่เคยถูกพิพากษาให้จำคุกเพราะอาญา เว้นแต่ความผิดลหุโทษ
7. ไม่เคยถูกให้ออก ปลดออก หรือไล่ออกจากรัฐวิสาหกิจ หรือหน่วยงานรัฐอื่นๆ
8. ไม่ได้ทำงานอยู่ในหน่วยงานรัฐอื่นๆ
9. ไม่ให้ใช้บังคับกับพนักงานราชการชาวต่างประเทศซึ่งส่วนราชการจำเป็นต้องจ้างตามข้อผูกพัน
ให้ส่วนราชการจัดทำกรอบอัตรากำลังพนักงานราชการเป็นระยะเวลาสี่ปีโดยให้สอดคล้องกับเป้าหมายการปฏิบัติราชการของส่วนราชการและแผนงบประมาณเชิงกลยุทธ์ (ข้อ 9) — โดยกรอบอัตรากำลังพนักงานราชการของส่วนราชการ จะต้องเสนอต่อคณะกรรมการเพื่อให้ความเห็นชอบ ซึ่งในกรณีที่มีเหตุผลความจำเป็น ส่วนราชการอาจขอให้เปลี่ยนกรอบอัตรากำลังพนักงานราชการได้ โดยได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการ และแจ้งให้สำนักงบประมาณทราบ
การสรรหาและการเลือกสรรบุคลากร ในกรณีที่ส่วนราชการใดขอยกเว้นหรือเพิ่มเติมเกี่ยวกับการสรรหาหรือการเลือกสรรตามที่คณะกรรมการกำหนด ให้สามารถกระทำได้โดยทำความตกลงกับคณะกรรมการ (ข้อ 10)
การจ้างพนักงานราชการให้กระทำเป็นสัญญาจ้างไม่เกินคราวละ 4 ปี หรือตามโครงการที่มีกำหนดเวลาเริ่มต้นและสิ้นสุดไว้ โดยอาจมีการต่อสัญญาจ้างได้ (ข้อ 11) — โดยให้หัวหน้าส่วนราชการหรือผู้ซึ่งได้รับมอบหมายจากหัวหน้าส่วนราชการเป็นผู้ลงนามในสัญญาจ้างกับผู้ได้รับการสรรหาหรือการเลือกสรรเป็นพนักงานราชการ
การแต่งกายและเครื่องแบบปกติ ให้เป็นไปตามที่ “ส่วนราชการกำหนด” เครื่องแบบพิธีการ ให้เป็นไปตามที่ “คณะกรรมการกำหนด” (ข้อ 12)
วันและเวลาทำงาน ให้เป็นไปตามที่ส่วนราชการกำหนด และอาจแตกต่างกันตามหน้าที่และตำแหน่ง (ข้อ 13)
หมวด 2: ค่าตอบแทนและสิทธิประโยชน์
อัตราค่าตอบแทนของพนักงานราชการเป็นไปตามที่ “คณะกรรมการกำหนด” (ข้อ 14)
ส่วนราชการอาจกำหนดให้พนักงานราชการประเภทใดหรือตำแหน่งในกลุ่มงานใดได้รับสิทธิประโยชน์อย่างหนึ่งอย่างใด ดังต่อไปนี้ (ข้อ 15) ได้แก่ สิทธิการลา สิทธในการได้รับค่าตอบแทนระหว่างลา สิทธิในการได้รับค่าตอบแทนการปฏิบัติงานนอกเวลางาน ค่าใช้จ่ายในการเดินทาง ค่าเบี้ยประชุม สิทธิในการขอรับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ การได้รับรถประจำตำแหน่ง หรือสิทธิอื่นๆ ที่คณะกรรมการประกาศกำหนด ซึ่งการเสนอปรับปรุงแก้ไขให้เสนอต่อ “คณะรัฐมนตรี (ครม.)”
ให้คณะกรรมการพิจารณาทบทวนอัตราค่าตอบแทนและสิทธิประโยชน์ของพนักงานราชการตามข้อ 14 และ 15 เพื่อปรับปรุงให้เหมาะสม เป็นธรรม และมีมาตรฐาน (ข้อ 16) โดยคำนึงถึง “ค่าครองชีพที่เปลี่ยนแปลง” “ค่าตอบแทนของเอกชน” “อัตราเงินเดือนของข้าราชการพลเรือน” และ “ฐานะการคลังของประเทศ” รวมถึงปัจจัยอื่นๆ
ให้พนักงานราชการได้รับสิทธิประโยชน์และมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยการประกันสังคม (ข้อ 17)
ส่วนราชการอาจกำหนดให้พนักงานราชการประเภทใดหรือตำแหน่งในกลุ่มงานใดได้รับค่าตอบแทนการออกจากงานโดยไม่มีความผิดได้ตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมกำหนด (ข้อ 18)
หมวด 3: การประเมินผลการปฏิบัติงาน
ในระหว่างสัญญาจ้าง ให้ส่วนราชการประเมินผลการปฏิบัติงานของพนักงานราชการ (ข้อ 19) ดังนี้ — การประเมินผลการปฏิบัติงานของพนักงานราชการทั่วไป ให้กระทําใน 2 กรณี ได้แก่ การประเมินประจําปี และ การประเมินเพื่อต่อสัญญาจ้าง ส่วนการประเมินผลการปฏิบัติงานของพนักงานราชการพิเศษ ให้กระทำในการประเมินผลสำเร็จของงาน ซึ่งเป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่ส่วนราชการกำหนด
พนักงานราชการผู้ใดไม่ผ่านการประเมินผลการปฏิบัติงาน ให้ถือว่าสัญญาจ้างของพนักงานราชการผู้นั้นสิ้นสุดลง โดยให้ส่วนราชการแจ้งให้พนักงานราชการ ทราบภายใน 7 วันนับแต่วันที่ทราบผลการประเมิน (ข้อ 20)
ให้ส่วนราชการรายงานผลการดำเนินการจ้างพนักงานราชการ รวมทั้งปัญหาอุปสรรคหรือข้อเสนอแนะต่อ “คณะกรรมการ” ภายใน “เดือนธันวาคมของทุกปี” (ข้อ 21)
หมวด 4: วินัยและการรักษาวินัยของ พนักงานราชการ
พนักงานราชการมีหน้าที่ต้องปฏิบัติงานตามที่กําหนดในระเบียบนี้ ตามที่ส่วนราชการกําหนด และตามเงื่อนไขที่กําหนดไว้ในสัญญาจ้าง และมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามคําสั่งของผู้บังคับบัญชาซึ่งสั่งในหน้าที่ราชการโดยชอบด้วยกฎหมายและระเบียบของทางราชการ (ข้อ 22)
พนักงานราชการต้องรักษาวินัยโดยเคร่งครัดตามที่กําหนดไว้เป็นข้อห้าม และข้อปฏิบัติที่ส่วนราชการกําหนด (ข้อ 23) พนักงานราชการผู้ใดฝ่าฝืนข้อห้ามหรือไม่ปฏิบัติตามข้อปฏิบัติตามวรรคหนึ่ง พนักงานราชการผู้นั้นเป็นผู้กระทําผิดวินัยจะต้องได้รับโทษทางวินัย
การกระทําความผิดดังต่อไปนี้ ถือว่าเป็นความผิดวินัยอย่างร้ายแรง (ข้อ 24)
ได้แก่ ความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ราชการ, จงใจไม่ปฏิบัติตามระเบียบเป็นเหตุให้ทางราชการได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรง, ปฏิบัติหน้าที่โดยประมาท, ไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กำหนดในสัญญา, ละทิ้งหรือทอดทิ้งการทำงานเป็นเวลาติดต่อกันเกิน 7 วัน, ประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง รวมถึงการกระทําอื่นใดที่ส่วนราชการกำหนดว่าเป็นความผิดวินัยอย่างร้ายแรง
เมื่อมีกรณีที่พนักงานราชการถูกกล่าวหาว่ากระทําผิดวินัยอย่างร้ายแรง (ข้อ 25) ให้ “หัวหน้าส่วนราชการ” จัดให้มีคณะกรรมการสอบสวนเพื่อดำเนินการสอบสวนโดยเร็ว และต้องให้โอกาสพนักงานราชการที่ถูกกล่าวหาชี้แจงและแสดงพยานหลักฐานเพื่อให้เกิดความเป็นธรรม ในกรณีที่ผิดจริง ให้หัวหน้าส่วนราชการมีคําสั่ง “ไล่ออก” แต่ถ้าไม่มีมูล ให้สั่งยุติเรื่อง
ในกรณีที่ปรากฏว่าพนักงานราชการกระทำความผิดวินัยไม่ร้ายแรงตามที่ส่วนราชการกำหนด (ข้อ 26) ให้หัวหน้าส่วนราชการส่ังลงโทษภาคทัณฑ์ ตัดเงินค่าตอบแทน หรือลดขั้นเงินค่าตอบแทน ตามควรแก่กรณีให้เหมาะสมกับความผิด
ในกรณีที่คณะกรรมการเห็นสมควรอาจกำหนดแนวทางการดําเนินการทางวินัยแก่พนักงานราชการ เพื่อเป็นมาตรฐานทั่วไปให้ส่วนราชการปฏิบัติก็ได้ (ข้อ 27)
หมวด 5: การสิ้นสุดสัญญาจ้าง พนักงานราชการ
สัญญาจ้างสิ้นสุดลงเมื่อ (ข้อ 28) ครบกำหนดตามสัญญาจ้าง, พนักงานราชการขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้าม, ตาย, ไม่ผ่านการประเมิน, ถูกให้ออก หรือ เหตุอื่นตามที่กำหนดไว้ในระเบียบนี้
ในระหว่างสัญญาจ้าง พนักงานราชการผู้ใดประสงค์จะลาออกจากการปฏิบัติงาน (ข้อ 29) ให้ยื่นหนังสือขอลาออกต่อหัวหน้าส่วนราชการตามหลักเกณฑ์ที่ส่วนราชการกำหนด
ส่วนราชการอาจบอกเลิกสัญญาจ้างกับพนักงานราชการผู้ใดก่อนครบกำหนดตามสัญญาจ้างได้ (ข้อ 30) โดยไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้า และไม่เป็นเหตุที่พนักงานราชการจะเรียกร้องค่าตอบแทนการเลิกสัญญาจ้างได้ เว้นแต่ส่วนราชการจะกำหนดให้ในกรณีใดได้รับ ค่าตอบแทนการออกจากงานโดยไม่มีความผิดไว้
เพื่อประโยชน์แห่งทางราชการ ส่วนราชการอาจสั่งให้พนักงานราชการ (ข้อ 31) ไปปฏิบัติงานนอกเหนือจากเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในสัญญาจ้างได้ โดยไม่เป็นเหตุให้พนักงานราชการ อ้างขอเลิกสัญญาจ้างหรือเรียกร้องประโยชน์ตอบแทนใด ๆ ในการนี้ส่วนราชการอาจกําหนดให้ ค่าล่วงเวลาหรือค่าตอบแทนอื่นจากการสั่งให้ไปปฏิบัติงานดังกล่าวก็ได้
เมื่อบุคคลที่เคยเป็นพนักงานราชการแต่ลาออกไปแล้ว (ข้อ 32) และบุคคลนั้นก่อให้เกิดความเสียหายแก่ส่วนราชการขณะที่เคยเป็นพนักงานราชการอยู่ บุคคลนั้นต้องรับผิดชอบในความเสียหายดังกล่าว ยกเว้นถ้าความเสียหายนั้นเกิดจากเหตุสุดวิสัย ในกรณีนี้ ส่วนราชการอาจหักค่าตอบแทนหรือเงินอื่นใดที่บุคคลนั้นควรได้รับจากส่วนราชการไว้เพื่อชำระค่าเสียหายนั้นได้
คณะกรรมการอาจกำหนดแนวทางในการดำเนินการเมื่อพิจารณาว่าเห็นสมควร (ข้อ 33) โดยเฉพาะเรื่องการยุติสัญญาจ้างตามหมวดนี้ เพื่อให้มีมาตรฐานทั่วไปในการปฏิบัติของส่วนราชการเกี่ยวกับเรื่องนี้ได้
หมวด 6: คณะกรรมการบริหาร พนักงานราชการ
ให้มีคณะกรรมการที่เรียกว่า “คณะกรรมการบริหารพนักงานราชการ” หรือ “คพร.” ซึ่งประกอบด้วยสมาชิกหลายคน โดยมีรองนายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีที่ได้รับมอบหมายเป็นประธานคณะกรรมการ และมีเลขาธิการคณะกรรมการข้าราชการพลเรือนเป็นรองประธาน นอกจากนี้ยังมีกรรมการอื่น ๆ ที่ประกอบด้วยผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม อัยการสูงสุด อธิบดีกรมบัญชีกลาง และผู้แทนจากกระทรวงกลาโหม กระทรวงการคลัง และกระทรวงแรงงาน นอกจากนี้ยังมีผู้แทนจากสำนักงานคณะกรรมการมาตรฐานการบริหารงานบุคคลส่วนท้องถิ่นเป็นกรรมการ รวมทั้งผู้ทรงคุณวุฒิจำนวนสี่คนที่มีความเชี่ยวชาญในสาขาต่าง ๆ เช่นการบริหารงานบุคคล กฎหมาย เศรษฐศาสตร์ และแรงงานสัมพันธ์ (ข้อ 34) ให้ผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน เป็นกรรมการและเลขานุการ และผู้แทนสํานักงบประมาณและผู้แทนกรมบัญชีกลาง เป็นกรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ
คณะกรรมการที่มีผู้ทรงคุณวุฒิต้องดำรงตำแหน่งในระยะเวลาสองปี หากกรรมการที่มีผู้ทรงคุณวุฒินั้นลาออกหรือเสียชีวิตอาจมีการแต่งตั้งใหม่เข้าไปในตำแหน่งนั้นได้อีก (ข้อ 35)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิสามารถพ้นจากตำแหน่งตามวาระที่กำหนดได้ด้วยสาเหตุต่อไปนี้: (ข้อ 36) การเสียชีวิต, การลาออก, ประธานกรรมการให้ออก ในกรณีที่มีการแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิแทนตำแหน่งที่ว่างหรือแต่งตั้ง ผู้ที่ได้รับแต่งตั้งจะมีวาระเท่ากับวาระการดำรงตำแหน่งที่เหลืออยู่ของกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิที่ยังคงอยู่ในตำแหน่งนั้น
คณะกรรมการมีอำนาจหลายหน้าที่ดังนี้: (ข้อ 37)
- กำหนดแผนงานและแนวทางปฏิบัติ รวมทั้งเสนอแนะส่วนราชการในการปรับปรุงหรือแก้ไขระเบียบหรือประกาศเกี่ยวกับการบริหารพนักงานราชการตามระเบียบนี้
- กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขเกี่ยวกับการสรรหาและการเลือกสรรบุคคลเพื่อเข้าเป็นพนักงานราชการ รวมทั้งแบบสัญญาจ้าง
- กำหนดกลุ่มงานและลักษณะงานในกลุ่มงาน และคุณสมบัติเฉพาะของกลุ่มงานของพนักงานราชการ
- ให้ความเห็นชอบกรอบอัตรากำลังพนักงานราชการที่ส่วนราชการเสนอ
- กำหนดอัตราค่าตอบแทนและวางแนวทางการกำหนดสิทธิประโยชน์อื่นของพนักงานราชการ
- กำหนดมาตรฐานการประเมินผลการปฏิบัติงานของพนักงานราชการ
- ตีความและวินิจฉัยปัญหาที่เกิดขึ้นจากการใช้บังคับระเบียบนี้
- แต่งตั้งคณะอนุกรรมการตามที่เห็นสมควร
- อำนาจหน้าที่อื่นตามที่กำหนดไว้ในระเบียบนี้หรือกฎหมายอื่นๆ
สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือนมีหน้าที่รับผิดชอบในงานธุรการที่เกี่ยวข้องกับคณะกรรมการและปฏิบัติตามที่ได้รับมอบหมายจากคณะกรรมการ (ข้อ 38)
ในกรณีที่ระเบียบนี้กำหนดให้ส่วนราชการกำหนดหลักเกณฑ์หรือปฏิบัติในเรื่องใด คณะกรรมการสามารถกำหนดให้เรื่องนั้นต้องกระทำโดยอ.ก.พ. กรมองค์การบริหารงานบุคคลหรือให้หัวหน้าส่วนราชการแต่งตั้งคณะกรรมการเป็นผู้ดำเนินการได้ (ข้อ 39)
บทเฉพาะกาล
(ข้อ 40) ในกรณีที่ยังไม่มีคณะกรรมการตามระเบียบนี้ คณะกรรมการบริหารงานลูกจ้างสัญญาจ้างสามารถดำเนินการตามคำสั่งคณะกรรมการกำหนดเป้าหมายและนโยบายกำลังคนภาครัฐที่ 3/2546 เรื่องแต่งตั้งคณะกรรมการบริหารงานลูกจ้างสัญญาจ้างลงวันที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2546 และปฏิบัติหน้าที่เป็นคณะกรรมการตามระเบียบนี้จนกว่าคณะกรรมการตามระเบียบนี้จะเข้ารับหน้าที่
(ข้อ 41) ในกรณีที่ส่วนราชการยังไม่ได้จัดทำกรอบอัตรากำลังพนักงานราชการแล้ว และมีความจำเป็นที่ต้องจ้างพนักงานราชการในกลุ่มงานเชี่ยวชาญพิเศษเพื่อดำเนินการจ้างได้ ในกรณีที่มีงบประมาณและโครงการเสร็จแล้ว หรือสำหรับโครงการใหม่ คณะกรรมการจะต้องพิจารณาอนุมัติการจ้างโดยเสนอคณะกรรมการพิจารณาอนุมัติการจ้าง
(ข้อ 42) ในกรณีที่อัตราลูกจ้างประจำว่างลงและคณะกรรมการกำหนดเป้าหมายและนโยบายกำลังคนภาครัฐกำหนดให้จ้างเป็นลูกจ้างชั่วคราว ส่วนราชการจะดำเนินการจ้างเป็นพนักงานราชการตามระเบียบนี้ได้ตั้งแต่งบประมาณ พ.ศ. 2548 เป็นต้นไป หรือตามที่คณะกรรมการกำหนด
(ข้อ 43) ในกรณีที่อัตราลูกจ้างประจำว่างลงระหว่างปีงบประมาณ พ.ศ. 2547 ซึ่งต้องยุบเลิกตำแหน่งนั้นตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 23 กันยายน 2546 หากส่วนราชการยังมีความจำเป็นและไม่ใช่กรณีการจ้างเหมาบริการ ให้ขออนุมัติคณะกรรมการเพื่อพิจารณากำหนดให้เป็นพนักงานราชการ